สอนซ่อมมือถือ วิเคราะห์วงจร หลักการเขียนบล็อคไดอะแกรม

หลักการเขียนบล็อคไดอะแกรม

การที่จะสามารถอ่านแผนผังวงจรได้และเข้าใจระบบการทำงานของมัน จะต้องเขียนแผนผังวงจรเป็นก่อน การเขียนผังวงจรแบ่งได้เป็นเขียนบล็อคไดอะแกรม และเขียนแผนผังวงจรที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่ออยู่ หรือที่เราเรียกว่า Schematic diagram

บล็อคไดอะแกรม ใช้สำหรับแสดงเพื่อให้เราเข้าใจการออกแบบและระบบการทำงานให้ง่ายขึ้น สำหรับวิธีการเขียนนั้นก็จะเขียนโดยการจัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ หรือเป็นบล็อคแต่ละบล็อคจะมีหน้าที่เฉพาะ มีการต่อแต่ละบล็อคเข้าด้วยกันโดยที่ไม่มีการแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ในบล็อค มีแต่ด้านเข้ากับด้านออกเท่านั้น

การดูวงจรในลักษณะแบบนี้จะทำให้เข้าใจถึงระบบทั้งหมดได้โดยง่าย โดยปกติแล้วเราจะไม่เขียนแหล่งจ่ายไฟหรือแบตเตอรี่ลงไปในบล็อคไดอะแกรม เราจะเขียนแค่เป็นเส้นทางไฟและมีตัวอักษรกำกับเท่านั้น

 

block diagram 12 pro max
บล็อคไดอะแกรมแสดงโครงสร้างไฟเลี้ยงหลักของ iPhone 12 pro max

วิธีเขียนบล็อคไดอะแกรม

วิธีการเขียนบล็อคไดอะแกรมนั้นไม่ได้ยาก แต่ต้องฝึกการเขียนให้เรียบร้อยสะอาดตา การเขียนบล็อคไดอะแกรมมีความจำเป็นและมีประโยชน์มากในการเรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์วงจร และเพื่อให้เขียนบล็อคไดอะแกรมได้ดี ผมมีคำแนะนำอยู่ 9 ข้อดังนี้คือ

1.ให้แน่ใจว่าเราใช้สัญลักษณ์ ของอุปกรณ์แต่ละตัวถูกต้อง
2.ใช้เส้นตรงเขียนเป็นเส้นต่อวงจร มันจะทำให้ดูเป็นระเบียบและสะอาดตา
3.ใส่จุดกลมที่จุดเชื่อมต่อระหว่างสาย
4.ถ้าเส้นตัดกันแต่ไม่มีการเชื่อมต่อก็ให้ลากเส้นผ่านไปเลย โดยไม่ต้องใส่จุด หรืออาจจะทำเป็นเส้นโค้งข้ามจุดที่ตัดกัน
5.ถ้าอุปกรณ์ต่ออนุกรมกับลายวงจรจะต้องเขียนเข้าไปด้วยเช่นตัวต้านทาน ตัวเหนี่ยวนำ
6.ถ้าอุปกรณ์ต่อขนาน จะเขียนหรือไม่เขียนก็ได้เช่นตัวคาปาซิเตอร์
7.ขั้วบวกของแหล่งจ่ายไฟต้องไว้ข้างบน และขั้วลบอยู่ข้างล่าง เพื่อให้ดูง่ายเมื่อระดับแรงดันไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง
8.พยายามจัดวงจรให้สัญญาณไหลจากซ้ายไปขวา ด้านเข้าและการควบคุมต้องอยู่ทางซ้าย ด้านออกอยู่ทางขวา
9.อาจไม่จำเป็นต้องเขียนสัญลักษณ์ของแหล่งจ่ายไฟ แต่ต้องมีเส้นจ่ายไฟและตัวอักษรกำกับ

แค่นี้ก็พอจะทำให้เขียนบล็อคไดอะแกรมได้อย่างเรียบร้อยและสะอาดตา ลองนำไปฝึกเขียนกันดูครับ

block diagram audio
บล็อคไดอะแกรมแสดงเส้นทางเสียงของโทรศัพท์มือถือ

ในรูปเป็นตัวอย่างบล็อคไดอะแกรมแสดงถึงการทำงานระบบเสียงของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบล็อคไดอะแกรมจะทำให้เข้าใจระบบการทำงานได้ง่ายขึ้น

สัญญาณเสียงถูกรับเข้ามาจากไมค์โครโฟนและถูกส่งผ่านไปยังชิปไอซีออดิโอที่ควบคุมระบบเสียง ชิปไอซีออดิโอจะทำการแปลงสัญญาณเสียงที่เป็นสัญญาณอนาล็อกให้เป็นสัญญาณดิจิตอล และส่งต่อไปยังซีพียูเพื่อประมวลผล หลังจากนั้นก็จะถูกส่งต่อไปยังซีพียูเบสแบนด์ ซีพียูเบสแบนด์จะทำการผสมสัญญาณเสียงเข้ากับคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ แล้วส่งออกสัญญาณไปทางเสาอากาศ

เวลารับสัญญาณ สัญญาณเสียงจะมาพร้อมกับคลื่นโทรศัพท์ทางเสาอากาศ ถูกส่งผ่านมาที่ซีพียูเบสแบนด์ สัญญาณเสียงและสัญญาณโทรศัพท์ถูกแยกออกจากกันที่ซีพียูเบสแบนด์ จากนั้นสัญญาณเสียงถูกส่งต่อไปให้กับซีพียูหลักเพื่อประมวลผล และส่งสัญญาณเสียงไปที่ชิปไอซีออดิโอ ชิปไอซีออดิโอก็จะแปลงสัญญาณเสียงซึ่งตอนนี้เป็นสัญญาณดิจิตอล ให้เป็นสัญญาณอนาล็อคและส่งต่อออกไปทางลำโพง

เห็นประโยชน์ของบล็อคไดอะแกรมหรือยังครับว่ามันสามารถทำให้เราเข้าใจภาพรวมของระบบการทำงานได้ง่ายขึ้น