อาจมีหลายคนสงสัยว่าวงจรคืออะไร ทำไมถึงต้องมีการวิเคราะห์วงจรด้วย เราสามารถซ่อมโทรศัพท์มือถือโดยที่ไม่ต้องศึกษาเรื่องวงจรได้มั๊ย
ถ้าเราไปเปิดพจนานุกรมเราก็จะได้ความหมายมาสองแบบคือ
1) (ไฟฟ้า) เส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ครบรอบโดยมีอุปกรณ์ตัวนำเชื่อมกับแหล่งจ่ายไฟ และตัวรับไฟอย่างเป็นระบบจนทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานได้
2) สิ่งที่มีลักษณะวนไปจนครบรอบ เช่นวงจรชีวิต
วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) คือวงจรไฟฟ้าที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่ออยู่ ดังนั้นวงจรอิเล็กทรอนิกส์หมายถึง การควบคุมหรือออกแบบการไหลของกระแสไฟฟ้าในวงจรไฟฟ้า ซึ่งมีชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบของวงจร ทำหน้าที่ควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้า และทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ทำงานได้
ทำไมต้องวิเคราะห์วงจร การวิเคราะห์วงจรก็คือการศึกษาการไหลของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ว่ามันเป็นไปตามการออกแบบหรือไม่ เมื่อเกิดอาการเสียขึ้นวงจรไม่ทำงาน เราก็จะรู้ว่าอุปกรณ์ตัวไหนหรือส่วนไหนของวงจรไม่ทำงาน จะทำให้เราเข้าไปแก้ไขได้ตรงจุดและรวดเร็ว
มีคำถามว่าซ่อมเมนบอร์ดโดยไม่วิเคราะห์อาการเสียเลยได้ไหม คำตอบคือได้ แล้วทำอย่างไรถึงซ่อมได้ ก็อาศัยการลองผิดลองถูกและถามเพื่อน ถามผู้รู้ว่าอาการเสียแบบนี้ต้องซ่อมตรงไหนอะไรยังไง แต่ถ้าเราวิเคราะห์อาการเสียเองได้จะทำให้เราลดต้นทุนและเวลาในการซ่อมไปได้มาก
ผมขอยกสถิติของคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาอาชีพมาให้ดูครับ คนที่จะประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาอาชีพจะมีไม่ถึง 10% และใน 10% นี้มีรายได้มากพอที่จะใช้คำว่ารวยได้ ถ้าเราซ่อมโดยวิเคราะห์วงจรเป็นเราก็จะก้าวเข้าไปอยู่ใน 10% ของผู้ที่ประสบความสำเร็จ
บางทีก็อาจจะพูดได้ว่า การซ่อมเมนบอร์ดโดยไม่วิเคราะห์อาการเสียก็ทำให้เรามีรายได้พอเลี้ยงชีพ แต่ถ้าเราซ่อมเมนบอร์ดโดยวิเคราะห์อาการเสียเป็นมันจะทำให้เรารวยครับ